การกำกับดูแลกิจการที่ดี
บริษัทดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ ตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ประกาศโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด
ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการปรับปรุง เนื้อหาและลำดับวิธีการ นำเสนอ ตลอดจนเพิ่มเติมประเด็นใหม่ๆ ที่ครอบคลุมกับ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการมากขึ้น และ มุ่งหวังให้บริษัทจดทะเบียนนำแนวปฏิบัติไปปฏิบัติ เพื่อยกระดับ มาตรฐานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้ดียิ่งขึ้นนั้น บริษัท จึงได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมทางธุรกิจของบริษัท ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
คณะกรรมการบริษัทได้ ตระหนักถึงการกำกับดูแลกิจการ ที่ดีเพื่อเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญที่สุดคือสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มของ กิจการในระยะยาว โดยได้ดำเนินการตามแนวทางของหลัก การกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย บริษัทจึงมีนโยบายปฏิบัติดังนี
-
1. สิทธิของผู้ถือหุ้น
บริษัทตระหนักและให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้น และให้สิทธิผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันโดยบริษัท มีนโยบายให้ข้อมูลและข่าวสารของบริษัทอย่างถูกต้องทั้งผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งบริษัทจัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผู้ถือหุ้นทุกคนมีสิทธิได้เงินปันผล ให้สิทธิผู้ถือหุ้นแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมพิจารณาตัดสินในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่างๆ โดยที่บริษัทมีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการกำหนดให้มีการจัดประชุมใน วัน เวลา และสถานที่ประชุม โดยส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า และระบุเอกสารที่ต้องใช้แสดงตัวในการเข้าร่วมประชุม มีการสำรองที่จอดรถ และให้บริการรถรับ-ส่ง บริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม แก่ผู้ถือหุ้นในวันประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าประชุมได้ โดยผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้ บุคคลอื่น หรือกรรมการอิสระของบริษัท เพื่อลงคะแนนเสียงแทนในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง มีการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นซักถามและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้กรรมการบริษัทเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะประธานกรรมการบริษัท เพื่อร่วมชี้แจงในที่ประชุม ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้ บริษัทจัดให้มีการใช้บัตรลงคะแนนในทุกวาระการประชุม พร้อมทั้งใช้โปรแกรมตรวจนับคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นโดยใช้ระบบ Barcode และได้เปิดเผยไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น นอกจากนี้บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถรับรู้ข่าวสารของบริษัทผ่าน Website (www.workpoint.co.th) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการใช้สิทธิออกเสียง นอกจากนี้บริษัทมีนโยบายที่จะละเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการจำกัดโอกาสของผู้ถือหุ้น ในการศึกษาสารสนเทศของบริษัทและเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามข้อมูลที่ไม่เข้าใจได้โดยสอบถามได้ที่ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ (“IR”) ที่โทรศัพท์ 0-2833-2281 หรือ E-mail: ir@workpoint.co.th
ทั้งนี้ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 บริษัทได้ ดำเนินการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอวาระ การประชุม และเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อรับ การคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 บริษัทได้เผยแพร่จดหมายผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอวาระการประชุม และเสนอชื่อ บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการ บริษัทในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 และได้ เผยแพร่หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท รวมทั้งได้แจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวต่อผู้ถือหุ้นผ่านระบบ ของตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บริษัทได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 12 เมษายน 2562 เวลา 14.00 น. ณ สตูดิโอ 4 บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 99 หมู่ 2 ตำบลบางพูน อำเภอเมือง ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม จำนวน 9 ท่าน ทั้งนี้มีคณะผู้บริหาร ผู้แทนจากสำนักงาน สอบบัญชี และผู้แทนจากฝ่ายกฎหมาย เข้าร่วมด้วย โดย ประธานกรรมการได้มอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็น ผู้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่างๆ ในการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และโดยการมอบฉันทะในขณะเปิดประชุมรวม 248 ราย นับจำนวนหุ้นได้ทั้งสิ้น 284,240,309 หุ้น จากจำนวนหุ้น ทั้งหมด ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท 441,559,477 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 64.3719 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว ทั้งหมดของบริษัท ระหว่างประชุมมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม ด้วยตนเองและโดยการมอบฉันทะเพิ่มอีก 5 ราย นับจำนวนหุ้น ได้ทั้งสิ้น 5,501 หุ้น รวมเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 253 ราย นับจำนวนหุ้นได้ทั้งสิ้น 284,245.810 หุ้น คิดเป็น ร้อยละ 64.3732 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ บริษัท ครบเป็นองค์ประชุมตามที่กำหนดในข้อบังคับของบริษัท ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งนี้ไม่มีการเพิ่มวาระอื่นๆ ที่ ไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเชิญประชุมแต่อย่างใด ที่ประชุมมีมติ อนุมัติในทุกวาระที่นำเสนอ
บริษัทมีการแจ้งมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ผ่านระบบการแจ้งข่าวของ ตลท. ภายในเย็นของวันประชุม โดยระบุคะแนนเสียงทั้งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง ในแต่ละวาระ บริษัทได้จัดทำรายงานการประชุม โดยจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 14 วันนับแต่วันประชุม และเผยแพร่รายงานการประชุม การบันทึกภาพและเสียง(VDO) ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัท
-
2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
บริษัทมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมในการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการของบริษัท โดยบริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท และจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม บริษัทได้แนบหนังสือมอบฉันทะ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะมอบฉันทะให้ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ หรือผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ผู้ถือหุ้นได้ ทั้งนี้ บริษัทมีมาตรการป้องกันกรณีที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ (ABUSIVE SELF – DEALING) เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (INSIDER TRADING) การนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหารซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม ดังรายละเอียดซึ่งได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน
ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูง จำเป็นต้องรายงานการซื้อขายหุ้นของบริษัทตนเอง ต่อบริษัท และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผ่านแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (แบบ 59-2)
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัท แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จึงกำหนดเป็นข้อปฏิบัติสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทในการหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท และในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการเช่นนั้นเพื่อประโยชน์ของบริษัท คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทได้ทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) อย่างครบถ้วน
-
3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายในหรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า และสังคมส่วนรวม โดยมีรายละเอียดแยกตามหัวข้อดังนี้
ต่อผู้ถือหุ้น
บริษัทมุ่งมั่นในการบริหารงานด้วยความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้บริษัท มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ยั่งยืนจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนได้รับรายงานสถานะและผลการดำเนินงานของบริษัท ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างสม่ำเสมอและทันเวลา
ต่อพนักงาน
บริษัทเน้นการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องได้รับปฎิบัติและได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการแก่พนักงานอย่างเหมาะสมเป็นธรรม มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้ผลประโยชน์ต่อพนักงาน ปฏิบัติต่อพนักงานตามข้อบังคับของกฎหมายแรงงานและสวัสดิการของพนักงาน และให้ความเคารพต่อสิทธิหน้าที่ส่วนบุคคล ตลอดจนดูแลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานเพื่อสุขอนามัย และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมให้ปฏิบัติงานภายใต้ค่านิยมที่ดีร่วมกันและมีความสามัคคีภายในองค์กร
ต่อลูกค้า
บริษัทอยู่ในธุรกิจบันเทิง เน้นการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง เสนอความบันเทิงภายใต้กฎหมาย, จริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย ด้วยทีมงานผลิตที่มีคุณภาพและนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเสนอความเห็น ติชม พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไข และ / หรือตอบสนองความต้องการของลูกค้าตามความเหมาะสม
ต่อคู่ค้า และ / หรือ เจ้าหนี้
บริษัทรักษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ ที่มีต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด และไม่เรียก รับ หรือ ยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ โดยหากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว หรือมีข้อมูลว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น จะรีบแจ้งหรือเปิดเผยข้อมูลต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
ต่อคู่แข่งทางการค้า
บริษัทมีนโยบายให้ปฏิบัติต่อคู่แข่งขันทุกรายอย่างเท่าเทียมกันด้วยความสุจริตโดยดำเนินการแข่งขันอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีคุณธรรม ด้วยการพัฒนาคุณภาพรายการ คู่แข่งเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทมีพัฒนาการในการผลิตรายการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
ต่อสังคมส่วนรวม
บริษัทมีความมุ่งมั่นและตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมโดยมิได้ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหวังเพียงแต่กำไรเท่านั้น แต่ยังหวังที่จะคืนกำไรให้กับสังคมทั้งในแง่จริยธรรมและคุณธรรม โดยวิธีการต่างๆ รวมทั้งในเรื่องของรูปแบบ รายการที่นำเสนอ ในปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ มากมาย และได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดเผยไว้ในหัวข้อ ความรับผิดชอบต่อสังคม
การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำความผิด (Whistle Blowing)
บริษัทได้จัดให้มีหน่วยงานเพื่อดูแลรับผิดชอบในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำความผิด กระทำผิดกฎหมาย ข้อสงสัยในรายงานทางการเงินที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกำหนดไว้ดังนี้
ทางไปรษณีย์ ที่ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) เลขที่ 99 หมู่ 2 ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000 และ ทางโทรศัพท์ 02-833-2000
โดยหน่วยงานที่รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน จะรวบรวมข้อเท็จจริง และพิจารณาตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับเพื่อรายงานผลต่อผู้บริหารระดับสูง และ/หรือคณะกรรมการตรวจสอบ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้บริษัทตระหนักถึงการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสและผู้ให้ข้อมูล โดยจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนไว้เป็นความลับ ไม่กระทำการเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ในปี 2562 ไม่มีข้อร้องเรียน และข้อสงสัยในการกระทำความผิด ในลักษณะการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย
-
4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
บริษัทมีการเผยแพร่ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่การเงินตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และโปร่งใส ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ WEBSITE ของบริษัทด้วย รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และ นักวิเคราะห์ ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายปรับปรุงข่าวสารและทันสมัยอยู่เสมอ
ในปี 2562 ได้จัดส่งรายงานทางการเงิน ทั้งรายไตรมาสและรายปี ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด และไม่ได้รับการแจ้งให้แก้ไขใดๆ
คุณภาพของรายงานทางการเงิน
คณะกรรมการบริษัทได้กำกับดูแลให้รายงานทางการเงิน ของบริษัทที่จัดทำขึ้น มีข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องครบถ้วน ในสาระที่สำคัญ โปร่งใส รวมทั้งได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐาน การบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป โดยใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสม และถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยคณะกรรมการบริษัทได้จัด ให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง และระบบการควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิผล และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำ หน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และระบบการควบคุมภายใน คณะกรรมการบริษัทได้จัดทำ รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน และคณะกรรมการตรวจสอบได้มีการรายงานตรวจสอบตาม รายละเอียดปรากฏในรายงานประจำปีแล้ว
และเพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินมีคุณภาพ และการกำกับดูแลมีความสอดคล้องกัน ตามที่สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ต้องมีผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดย บริษัทได้นำส่งข้อมูลและเผยแพร่ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งเมื่อ 1. นายสุรการ ศิริโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงินการลงทุน 1 มีนาคม 2556 2. นางเบญจมาศ จันปุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน 1 กันยายน 2533 โดยผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีของบริษัท เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน
บริษัทจัดให้มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relation) เพื่อเป็นตัวแทนบริษัทในการติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน สถาบัน นักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์และประชาชนทั่วไป โดยการเผยแพร่ข้อมูลผ่านหลายช่องทาง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ การเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อมวลชน อีเมล์ โทรศัพท์ โทรสาร รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์บริษัทที่ www.workpoint.co.th ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถติดต่อขอข้อมูลบริษัทโดยผ่านทางเว็บไซต์ ของบริษัทที่ www.workpoint.co.th หรือที่ E-Mail Address : ir@workpoint.co.th หรือที่โทร. 02-833-2281
กิจกรรม
ในปี 2562
(จำนวนครั้ง)Conference Call
6
Analyst Meeting
2
Company Visit
6
Domestic Roadshow / International Roadshow
5
การประเมินผล
คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ และผู้บริหาร รวมทั้งคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุด เพื่อพิจารณาผลงานและปรับปรุงแก้ไข ให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาทบทวนจากผลการดำเนินงานของบริษัท ตามนโยบายและกลยุทธ์ที่บริษัทได้กำหนดไว้ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนได้ประมวลข้อคิดเห็น อันเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
ช่องทางการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทกับนักวิเคราะห์
บริษัทได้จัดให้มีช่องทางการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลของบริษัท ในรูปแบบการประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Analyst Meeting) เป็นประจำทุกๆ ไตรมาส โดยจัดขึ้นไตรมาสละ 1 ครั้ง ณ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) และ/หรือ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รับทราบผลการดำเนินงาน และ/หรือข้อมูลสำคัญของบริษัท ทั้งนี้ได้เผยแพร่การนำเสนอข้อมูลของบริษัท (Presentation) ในการประชุมนักวิเคราะห์ ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.workpoint.co.th
-
5. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการชี้แนะทิศทางการดำเนินงาน ติดตามดูแลการทำงานของฝ่ายจัดการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ โปร่งใส ระมัดระวัง โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และมีนโยบายปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน เกี่ยวกับหน้าที่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท เช่น กรรมการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น มีความตั้งใจดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัท และมีการกำกับควบคุมฝ่ายบริหารให้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คณะกรรมการมีความรับผิดชอบต่อรายงานทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีการจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ อย่างสม่ำเสมอ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อช่วยดูแลระบบการควบคุมภายในของบริษัท เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทมีความโปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทมีจำนวน 9 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหาร 6 คน และกรรมการอิสระ 3 คน ตามที่หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนกำหนดไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถสอบทานการบริหารจัดการงานของบริษัทได้และเพื่อให้การกำกับดูแลกิจการมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยกรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดจะหมุนเวียนกันออกตามวาระคราวละ 1 ใน 3
การปฐมนิเทศกรรมการใหม่
บริษัทได้จัดเตรียมเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท หน้าที่ของกรรมการ ข้อบังคับบริษัท หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนรายละเอียดของการดำเนินงานต่างๆ เป็นต้น ให้แก่กรรมการได้ศึกษา และใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีการบรรยายเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจของบริษัท และข้อมูลต่างๆที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนอำนาจ หน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบ อีกด้วย
การพัฒนากรรมการ
คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงการพัฒนาความรู้ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานในฝ่ายที่เกี่ยวข้องของบริษัท มาโดยตลอด สนับสนุน และส่งเสริมการเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ และการร่วมกิจกรรมที่เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ก.ล.ต. ตลท. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรในทุกระดับของบริษัทให้มีประสิทธิภาพต่อการปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินงานอย่างสูงสุด โดยเลขานุการบริษัทเป็นผู้ดำเนินการแจ้งหลักสูตรการอบรมต่างๆ ต่อกรรมการ และผู้บริหาร
โดย ณ ปี 2562 คณะกรรมการบริษัท ได้ผ่านการอบรมหลักสูตร Director Accreditation Program (DAP) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หลักสูตรสำหรับกรรมการบริษัทในการเรียนรู้บทบาทหน้าที่เบื้องต้น ซึ่งได้รับการรับรองหลักสูตรจาก ตลท. และ ก.ล.ต. แล้ว ทุกท่าน นอกจากนี้ กรรมการยังได้เข้ารับการอบรมในหลากหลายหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งได้เปิดเผยไว้ในประวัติของคณะกรรมการบริษัทแล้ว
การประชุมคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และมีการประชุมพิเศษ เช่น การวางแผนงานครึ่งปี และวางแผนงานประจำปี เป็นต้น โดยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน จะเป็นผู้ดูแลให้ความเห็นชอบกำหนดระเบียบวาระการประชุม และเปิดโอกาสให้กรรมการสามารถเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการได้ โดยในการประชุมต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะครบเป็นองค์ประชุม และมีการกำหนดระเบียบวาระชัดเจน มีเอกสารประกอบการประชุมที่ครบถ้วนเพียงพอและจัดส่งให้กับคณะกรรมการล่วงหน้าก่อนการประชุม 7 วัน เพื่อให้กรรมการได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม โดยกรรมการสามารถขอข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมได้จากเลขานุการบริษัท
ทั้งนี้ เลขานุการบริษัท ได้กำหนดตารางการประชุม และแจ้งประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรให้กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบไว้ล่วงหน้าทุกปี
ประธานกรรมการมีนโยบายส่งเสริมให้มีการดุลยพินิจที่รอบคอบและจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอในการประชุม เพื่อที่จะให้ฝ่ายจัดการเสนอเรื่องและสามารถอภิปรายปัญหาสำคัญได้อย่างรอบคอบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการได้จัดให้มีเลขานุการหน้าที่ให้การสนับสนุนการจัดเตรียมระเบียบวาระการประชุมทำหนังสือเชิญประชุม ดูแลและจัดการประชุม จดบันทึกและจัดทำรายงานการประชุม ในปี 2562 คณะกรรมการบริษัทมีการประชุมจำนวน 4 ครั้ง โดยรายละเอียดการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการบริษัทแต่ละท่านได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อโครงสร้างการจัดการ
-
คณะกรรมการชุดย่อย
เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยส่งเสริมให้การดำเนินงานโดยรวมของบริษัทบรรลุตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยพิจารณา กำกับดูแลการดำเนินงานอย่างรอบคอบ สอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
คณะกรรมการตรวจสอบ
ประกอบด้วยกรรมการอิสระ จำนวน 3 ท่าน โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนด โดยขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อโครงสร้างการจัดการแล้ว
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี ซึ่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกวาระได้ตามความเหมาะสม
คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 3 ท่าน เพื่อทบทวนโครงสร้างองค์กรและลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบได้เปิดเผยไว้ในหัวข้อโครงสร้างการจัดการแล้ว
-
การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ
กรรมการบริษัทได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น โดยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทุกครั้งให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามของคณะกรรมการทั้งคณะ ถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม โดยกรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งนั้น ให้พิจารณาจากกรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่งตามวาระ และกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ได้
คณะกรรมการสรรหาจัดตั้งเพื่อคัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยเฉพาะ ทั้งนี้เกณฑ์ในการคัดเลือกคณะกรรมการพิจารณาสรรหาคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ ที่สามารถเอื้ออำนวยต่อธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลตามเกณฑ์คุณสมบัติมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และตามกฎระเบียบคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้ง โดยมีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งดังนี้
- 1. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง
- 2. ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
- 3. บุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้ง ในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่จะพึงมี ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
เมื่อมีการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการในขณะนั้น ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกให้กลับเข้ามารับตำแหน่งอีกก็ได้ โดยบริษัทได้เปิดโอกาสให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท เป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทมีกรรมการที่มีวาระการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหลายวาระก็ตาม ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทมีความเชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจของบริษัท ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน โดยตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในแต่ละวาระ คณะกรรมการได้อุทิศเวลาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด อย่างโปร่งใสตลอดมา
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดเข้าเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในการประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไป เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือน้อยกว่า 2 เดือน โดยบุคคลดังกล่าวจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน และมติของคณะกรรมการต้องประกอบไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่
-
การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยในเครือ
บริษัทมีนโยบายในการบริหารงานในบริษัทย่อยในเครือ โดยการแต่งตั้งตัวแทนที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อยในเครือ เพื่อให้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการบริหารงานของบริษัทย่อยในเครือ โดยมีส่วนในการควบคุมและกำหนดนโยบายการบริหารงาน
การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน
การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน
บริษัทมีนโยบายในการควบคุมมิให้บุคลากรของบริษัท นำข้อมูลภายในองค์กรไปเปิดเผยให้แก่ผู้อื่นหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมถึงเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยบริษัท มีนโยบายและวิธีการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายในบริษัท ดังนี้
- 1. ให้ความรู้แก่กรรมการและผู้บริหาร ให้รับทราบเกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และ บุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- 2. กำหนดให้ผู้บริหารรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจัดส่งสำเนารายงานดังกล่าวให้แก่บริษัทในวันเดียวกับวันที่ส่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- 3. ดำเนินการส่งหนังสือเวียนเพื่อแจ้งให้ผู้บริหารทราบว่า ผู้บริหารที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือน ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน และห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
-
ค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี
-
ค่าตอบแทนจากการสอบบัญชี (Audit Fee)
บริษัทและบริษัทย่อย จ่ายค่าตอบแทนการสอบบัญชี ให้แก่ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด ในรอบปีบัญชี 2562 ดังนี้บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 2,200,000 บาท บริษัทย่อย จำนวนเงิน 3,300,000 บาท รวมทั้งสิ้น จำนวนเงิน 5,700,000 บาท หมายเหตุ : ค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี (Audit Fee) ลดลงจำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) จากที่ขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 (ค่าสอบบัญชีที่ขออนุมัติเดิม เท่ากับ 5,900,000 บาท) เนื่องจากในระหว่างปี 2562 บริษัท บีเอ็นเค โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในอัตราร้อยละ 50 ได้ปิดกิจการ ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท บีเอ็นเค โปรดักชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562
-
ค่าบริการอื่น (Non-Audit Fee)
บริษัทและบริษัทย่อยจ่ายค่าตอบแทนเกี่ยวกับงานบริการซึ่งได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าโทรสาร ค่าโทรศัพท์ ค่าถ่ายเอกสาร และค่างบการเงินภาษาอังกฤษ ในรอบปีบัญชี 2562 เป็นจำนวนเงิน 724,896.51 บาท ให้แก่ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด
-
การนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 ไปปรับใช้
คณะกรรมการได้ทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการ ให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2555 และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยคณะกรรมการได้พิจารณาและทบทวนการนำหลักปฏิบัติตาม CG Code ไปปรับใช้ตามบริบททางธุรกิจของบริษัท ด้วยความรอบคอบและระมัดระวังแล้ว
-